บริจาคเลือดยิ่งให้ ยิ่งได้

4 ข้อดีเมื่อบริจาคเลือด ยิ่งให้ ยิ่งได้



รู้จักการบริจาคเลือด


การบริจาคเลือดมีความสำคัญอย่างมากในการใช้รักษาผู้ป่วย โดยเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่เราบริจาคไปนั้นสามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยที่มีการเสียเลือดมาก ทั้งในการรักษา ผ่าตัด เสียเลือดจากอุบัติเหตุ หรือมีโรคที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เอง โดยเลือดและส่วนประกอบของเลือดต่างจากยารักษาโรคเนื่องจากไม่สามารถซื้อขายได้ จำเป็นต้องได้มาโดยการบริจาคเท่านั้น;

ในการบริจาคเลือดเป็นการเจาะเลือดออกปริมาตร 450 มิลลิลิตร ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริจาค เนื่องจากร่างกายมีการสร้างเม็ดโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตมาทดแทนส่วนที่เสียไป โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ


ข้อดีของการบริจาคเลือด


1. ร่างกายแข็งแรง

การบริจาคเลือดเป็นประจำช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นการบริจาคเลือดยังเป็นการรักษาระดับธาตุเหล็ก ไม่ทำให้เราอยู่ในภาวะ “เหล็กเกิน” ที่ทำให้เกิดการสะสมธาตุเหล็กตามอวัยวะต่าง ๆ มากเกินไปเช่น ตับ หรือหัวใจ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่น โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน


2. ผิวพรรณยิ่งเปล่งปลั่ง

เลือดเป็นตัวนำพาออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ มาสู่ผิว ซึ่งการกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดด้วยการบริจาคเลือด จะช่วยกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ และการไหลเวียนของโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผิว ช่วยให้ดูเปล่งปลั่ง และมีสุขภาพดี


3. ช่วยลดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดแดงตีบ

การบริจาคเลือดมีส่วนช่วยในการลดความหนืดของเลือด ซึ่งช่วยให้เราห่างไกลจากภาวะหลอดเลือดแดงตีบ เพราะถ้าความหนืดของเลือดมากเกินไปจะทำให้เลือดปั๊มสู่หัวใจยากขึ้น จนอาจทำให้เกิด อาการความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบได้


4. เป็นการตรวจสุขภาพเบื้องต้นไปในตัว

ก่อนการบริจาคเลือด เราจะได้รับการตรวจเลือดในเบื้องต้น ซึ่งอาจทำให้เราได้พบปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่ตรวจเจอได้ผ่านการตรวจเลือด เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคซิฟิลิส รวมถึงโรคเอดส์ ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวมาก่อน รวมถึงเราจะได้รับการตรวจความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่าเรานั้นเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงหรือ ภาวะหลอดเลือดแดงตีบอยู่หรือไม่อีกด้วย


 


อยากบริจาคเลือดต้องรู้ คุณสมบัติของผู้ที่จะบริจาคเลือดได้นั้นต้องมีดังนี้


  1. ต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

ผู้บริจาคโลหิตมีความปกติทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน อาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือ สารอื่น ๆ


  1. มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป

การที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไปเมื่อบริจาคเลือดไปแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าอาการหนักหน่อยก็อาจจะถึงขั้น shock เข้าโรงพยาบาลไปหลายวัน..เพราะร่างกาย สร้างเลือดไม่ทันซึ่งเป็นอันตรายมาก


  1. อายุตั้งแต่ 17 – 70 ปี

    1. ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17 - 70 ปี (อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง)
    2. บริจาคโลหิตครั้งแรก อายุไม่เกิน 60 ปี
    3. ผู้บริจาคที่มีอายุ 60 - 65 ปี  เป็นประจำสม่ำเสมอ บริจาคได้ทุก 3 เดือน ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ
    4. ผู้บริจาคที่มีอายุ 65 - 70 ปี เป็นประจำสม่ำเสมอ บริจาคได้ทุก 6 เดือน และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่

  1. การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง

การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องนอนถึง 8 ชั่วโมง เพียงสามารถนอนได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ เพียง 5 - 6 ชั่วโมง ถ้านอนหลับสนิท ตื่นมารู้สึกสดชื่น ไม่ผิดไปจากกิจวัตรเดิม และสามารถทำงานได้อย่างปกติ


  1. ไม่มีประวัติป่วย เป็นโรคร้ายแรง หรือโรคติดต่อทางกระแสเลือด

    1. หากผู้บริจาคมีโรคร้ายแรง หรือที่สามารถติดต่อทางกระแสเลือด ควรงดบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต
    2. ส่วนผู้ป่วยที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด 19 (COVID-19) ปัจจุบันอ้างอิงจากประกาศศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ 10/2563 เรื่อง มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทางโลหิต ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ให้งดบริจาคโลหิตเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในกรณีดังต่อไปนี้
      1. ท่านเดินทางมาจากต่างประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สถานบันเทิง บ่อนการพนัน สถานที่แออัด)
      2. อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19
      3. หลังจากหายป่วยจากโรค COVID-19

  1. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์

    1. ท่านหรือคู่ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์กับ : ผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง/ผู้ทำงานบริการทางเพศ/ผู้เสพยาเสพติด/ผู้ที่อาจติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หากผู้บริจาคโลหิตและคู่ มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตเช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อกำหนดให้งดบริจาคโลหิตอย่างไม่มีกำหนด
    2. ท่านเป็นเพศชายที่เคยมีเพศกับเพศชายสัมพันธ์ ซึ่งอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสูงกว่าประชากรทั่วไปมาก และโอกาสที่จะมีผู้ที่อยู่ในระยะ window period ของการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มนี้สูงกว่าประชากรทั่วไป (window period คือ ระยะเวลาที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อ ในร่างกายยังมีเชื้อจำนวนน้อย ไม่สามารถตรวจพบร่องรอยการติดเชื้อได้ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการแต่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับโลหิตได้) ข้อนี้จึงยังเป็นข้อกำหนดไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร