ปวดท้องเรื้อรัง เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง

“อาการปวดท้อง” ทั้งเป็นๆ หายๆ ปวดมาก ปวดน้อย แตกต่างกันไป และก็มีหลายคนที่ปวดท้องแบบไม่ทราบสาเหตุแต่ไปซื้อยามากินเอง จึงทำให้ “อาการปวดท้อง” ไม่ดีขึ้น หรือกลับแย่ลงกว่าเดิม เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ดังนั้นการจะกินยาอะไรหรือต้องรักษาอย่างไร เราต้องรู้ก่อนว่าอาการปวดท้องที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากสาเหตุใดหรือเป็นโรคใดกันแน่


 


ปวดท้องเรื้อรัง เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง


นอกจาก “อาการปวดท้อง” จะมีหลายแบบแล้ว ตำแหน่งที่ปวดก็พอบอกได้ว่า…เราเป็นโรคอะไร? ทั้งนี้ก็ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย ก่อนการรักษา


มะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือการติดเชื้อ H. Pylori ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะ ทำให้อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำติดต่อกันนานๆ เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง

ระยะแรกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แต่เมื่อระยะของโรคดำเนินไปอาจทำให้มีอาการปวดท้องที่คล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไวรัสลงกระเพาะ

ลักษณะอาการ

  • เหมือนอาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายท้อง
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • คลื่นไส้จนไม่อยากรับประทานอาหาร
  • มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

ผู้ที่มีอาการเหล่านี้บ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการตรวจอย่างละเอียดด้วยการกลืนแป้งสารทึบแสงแล้วทำการเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นความผิดปกติภายในช่องท้อง หรืออาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงจะเห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้อย่างละเอียด


มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ (Colon) หรือที่ทวารหนัก (Rectum) นอกจากกรรมพันธุ์จะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคแล้ว การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะไขมันและน้ำตาลก็เป็นสาเหตุสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ลักษณะอาการ

  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • ท้องอืดเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ่ายดำ
  • น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย
  • คลำพบก้อนในท้อง ท้องผูก หรือท้องผูกสลับท้องเสีย

สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยการตรวจอุจจาระเพื่อหาการปนของเลือด หรือการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนปลาย และการตรวจทางภาพรังสีวินิจฉัย


มะเร็งตับอ่อน

เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อยนัก เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง ทำให้ยากต่อการตรวจวินิจฉัยโรค และอาการมักจะปรากฏเมื่อมะเร็งลุกลามมากแล้ว ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์ในปริมาณสูง รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยเสริม

ลักษณะอาการ

  • ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร ตัวเหลือง หรือไม่มีอาการเลยก็ได้

แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย การตรวจตับอ่อนแล้วพบมีก้อนเนื้อโดยการทำอัลตร้าซาวด์ และทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


โรคแผลในกระเพาะอาหาร

สาเหตุหลักของโรคนี้เกิดจากกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนปัจจัยอื่นก็เช่น การกินยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด การกินอาหารเผ็ดๆ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคแผลในกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกเสียจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่ม

ลักษณะอาการ

  • อาหารไม่ย่อย แน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
  • ปวดแน่นท้อง มักจะเป็นๆ หายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดแน่นท้องอีก
  • แน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว มักมีอาการเรื้อรังเป็นปี

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย น้ำหนักลดลงมาก ถ่ายเป็นเลือดสดหรือสีดำเหลว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่แสดงผลได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเอกซเรย์กลืนสารทึบรังสี และการส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหาร ที่สามารถตรวจพบแผลเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้


ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

มีที่มาจากการที่ตับอ่อนอักเสบอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดต่อเนื่องมาจากการอักเสบที่รักษาไม่หาย เนื่องจากสาเหตุยังคงอยู่ เช่น ไม่เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ลักษณะอาการ

  • มีอาการปวดท้องเรื้อรังแบบเป็นๆ หายๆ
  • ปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็นบางครั้ง
  • ถ่ายเป็นสีเทา หรือซีดๆ อาจมีไขมันออกด้วย น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น
  • ผอมลงต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่อาจกินได้ตามปกติ เนื่องจากอาหารดูดซึมไม่ได้เพราะขาดน้ำย่อย เป็นโรคขาดอาหาร อ่อนเพลีย ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารไขมันสูง รวมทั้งต้องระวังเรื่องการกินยาบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียงเป็นพิษต่อเซลล์ตับอ่อน เช่น
  • กินหรือฉีดวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน
  • กินยาแก้ปวดประจำเดือนเป็นประจำ
  • ยาคลายเครียด

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง ผู้ป่วยควรพบแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วที่สุด


ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง

ถุงน้ำดีอักเสบเกิดจากนิ่วอุดตันหรือมีการติดเชื้อในท่อถุงน้ำดี ส่งผลให้น้ำดีไหลผ่านไปยังลำไส้เล็กไม่ได้ เมื่อน้ำดีอยู่ในถุงน้ำดีมากเกินไปจะยิ่งเพิ่มแรงดันภายในถุงน้ำดี ก่อให้เกิดอาการบวมและอักเสบ

ลักษณะอาการ

  • มีอาการปวดท้องเรื้อรัง และเป็นๆ หาย ๆ
  • แยกจากภาวะปวดท้องจากสาเหตุอื่นๆ ได้ยาก

การผ่าตัดถุงน้ำดี มักเป็นการผ่าตัดหลังควบคุมการติดเชื้อไปแล้ว โดยการให้ยาปฏิชีวนะและการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน  และการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินได้น้อย เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์


“อาการปวดท้อง” เป็นหนึ่งในอาการของหลายๆ โรค ให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาความเสี่ยงหรือโรคที่อาจซ่อนอยู่ และรับการรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่านะคะ