9 ข้อต้องรู้ สัญญาณบอกมะเร็งรังไข่ ภัยเงียบของผู้หญิง


อาการที่คุณต้องรู้ มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบของผู้หญิง


มะเร็งรังไข่ คือ การที่มีเซลล์มะเร็งไปเจริญเติบโตอยู่ในรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในสตรีที่ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ คุณหมอจะต้องทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูกส่วนใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้นๆ


โดยทั่วไปมะเร็งรังไข่จะมีด้วยกันอยู่ 4 ระยะ โดยแบ่งระยะของมะเร็งรังไข่ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 คือตัวมะเร็งอยู่เฉพาะแต่ในรังไข่
  • ระยะที่ 2 คือตัวมะเร็งมีการกระจายในอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่ 3 คือตัวมะเร็งมีการแพร่กระจายในช่องท้อง
  • ระยะที่ 4 คือตัวมะเร็งมีการกระจายไปที่เนื้อตับหรืออวัยวะอื่นๆ นอกช่องท้อง

9 ข้อต้องรู้ สัญญาณบอกมะเร็งรังไข่

1.ท้องอืด ท้องเฟ้อ

คนส่วนใหญ่จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะในช่องก่อนมีประจำเดือน หรือหลังจากกินอาหารมื้อใหญ่ แต่หากท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย หรือท้องอืดทุกวัน อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่ โดยอาการอาจมีตั้งแต่ท้องอืดธรรมดาไปจนถึงท้องอืดรุนแรง และอาการอาจแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป

2.ปวดหรือมีแรงกดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน

การปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ลักษณะคล้ายปวดประจำเดือน ไม่ว่าจะปวดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดทั่วบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นอาการที่พบบ่อยใน มะเร็งรังไข่ ระยะแรก โดยปกติผู้หญิงจะมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน แต่หากเลยช่วงนั้นไปแล้ว อาการปวดยังคงอยู่ และรู้สึกเหมือนมีแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกราน คุณควรไปพบคุณหมอ

3.รู้สึกอิ่มเร็ว

ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่หลายคนให้ข้อมูลว่า พวกเธอรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังจากกินอาหาร และอาจมีความรู้สึกนี้ระหว่างมื้ออาหาร รวมถึงอาจมีแก๊สและอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย นอกจากนี้ บางคนอาจน้ำหนักลดโดยที่ไม่ได้พยายามลดน้ำหนัก ซึ่งถือเป็นอาการของโรคมะเร็งรังไข่ที่รุนแรงขึ้น

4.ปัสสาวะบ่อย

อาการปัสสาวะบ่อย หรือเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาจเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น กระเพาะปัสสาวะถูกเนื้องอกกดทับ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดจากเนื้องอกบางประเภท

5.การขับถ่ายเปลี่ยนแปลง

การขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่สัญญาณที่สำคัญที่สุดของโรคมะเร็งลำไส้ แต่ยังเป็นอาการของ มะเร็งรังไข่ ด้วย เมื่อการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย เนื้องอกในลำไส้และในช่องท้อง อาจเป็นเหตุให้ลำไส้อุดตัน จนทำให้มีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

6.เจ็บหรือปวดเวลามีเพศสัมพันธ์

ความเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือภาวะปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ ยังเป็นอาการที่พบบ่อยของภาวะอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โดยปกติแล้วจะปวดข้างเดียว ซึ่งอาการปวดจะคล้ายกับการปวดประจำเดือน และอาจเกิดขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ การปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ไม่เพียงแค่เป็น สัญญาณและอาการของมะเร็งรังไข่ แต่ยังเป็นเหตุให้อารมณ์และความสัมพันธ์แย่ลงได้ด้วย

7.ปวดหลัง

อาการปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณหลังส่วนล่างหรือหลังด้านข้าง ช่วงระหว่างซี่โครงและสะโพก โดยจะรู้สึกเหมือนปวดประจำเดือน ทั้งที่ไม่ได้ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง

8.น้ำหนักลด หรือน้ำหนักขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ

งานวิจัยพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคมะเร็งบางชนิด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หมายถึง น้ำหนักลดลง 5% ของน้ำหนักตัวภายในเวลา 6-12 เดือน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นเพราะรู้สึกอิ่มเร็ว ไม่อยากอาหาร ดังนั้น ถ้าน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบคุณหมอ

9.ความอ่อนเพลีย

ความอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบบ่อย โดยความอ่อนเพลียจากโรคมะเร็ง หรือโรค มะเร็งรังไข่ มีแนวโน้มว่าจะแตกต่างจากความเหนื่อยในชีวิตประจำวัน เนื่องจากความอ่อนเพลียจะไม่ดีขึ้นด้วยการนอนหลับอย่างเพียงพอ หรือการดื่มกาแฟ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งสามารถทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลีย



การตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่

ารตรวจมะเร็งรังไข่เพียงวิธีเดียวอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเนื้อร้ายมะเร็งหรือไม่ ดังนั้นแพทย์อาจต้องอาศัยการตรวจหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้


1. ตรวจภายใน

การตรวจภายในเป็นวิธีแรกๆ ที่แพทย์อาจใช้ในการตรวจคัดกรอง เนื่องจากสามารถมองเห็นความผิดปกติภายนอกได้ชัดเจน สามารถคลำก้อนเนื้อด้านในและกดดูว่ามีอาการเจ็บหรือไม่ ช่วยให้ง่ายต่อการวินิจฉัย นอกจากการตรวจภายในจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ไหม ยังสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกันได้อีกด้วย


2. อัลตราซาวด์

การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือการใช้คลื่นอัลตราซาวด์สร้างภาพอวัยวะภายในขึ้นมาเพื่อดูความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อ ซีสต์ และถุงน้ำ


3. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography scans: CT scans) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ปล่อยลงไปในช่องท้อง เพื่อสร้างภาพระหว่างช่องท้องกับกระดูดเชิงกรานขึ้นมาให้แพทย์ตรวจสอบ


4. ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging: MRI) เป็นการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายเช่นกันกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ MRI จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุ MRI สามารถแยกระหว่างก้อนเนื้อที่ผิดปกติกับเนื้อเยื่อของร่างกายได้ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ในระยะแรกๆ (ขนาดเนื้องอก 0.5 เซนติเมตรขึ้นไป) โดยปกติ เครื่อง MRI สามารถใช้ตรวจความผิดปกติของอวัยวะภายในได้หลายอย่าง เช่น สมอง หัวใจ ปอด ช่องท้อง กระดูกสันหลัง ตับ ไต รังไข่ มดลูก ข้อต่างๆ เป็นต้น


5. ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง CA-125

ผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่หลายคนอาจมีโปรตีน CA-125 อยู่ในเลือดจำนวนมาก การตรวจพบโปรตีนชนิดนี้จึงอาจเป็นข้อมูลประกอบคำวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ ส่วนมากโปรตีนชนิดนี้จะสูงในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะแรกๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นมะเร็งรังไข่จะมีโปรตีนชนิดนี้สูง โปรตีนชนิดนี้อาจพบได้ในคนที่กระดูกเชิงกรานอักเสบด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตรวจพบโปรตีนชนิดนี้ยังไม่อาจยืนยันได้ 100% ว่าเป็นมะเร็งรังไข่


6. ตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)

การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเก็บเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อไปเข้าห้องปฎิบัติการเพื่อหาสัญญาณของโรคมะเร็งโดยการตรวจชิ้นเนื้อมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย


การรักษา

  • 1.การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบๆ ออก หรืออาจรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
  • 2.การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การใช้ยาเม็ด ยาฉีดเข้าเส้นเลือดหรือผ่านสายเข้าในช่องท้อง
  • 3.การใช้รังสีรักษา (มีการใช้รักษาแต่น้อยในมะเร็งรังไข่) เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง การใช้รังสีอาจเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายและฉายตรงเข้าสู่ร่างกาย
  • 4.การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาหรือสารอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม

ทั้งนี้ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง หากไม่ทำการรักษาเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปที่บริเวณช่องท้องหรืออวัยวะอื่นในร่างกายได้


การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่

  • 1.ดูแลการรับประทานอาหารที่ปลอดสารก่อมะเร็งและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีอยู่เสมอ
  • 2.ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจจับมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย