ท้องผูกบ่อย ๆ อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก


ท้องผูกบ่อยขนาดนี้ อาจไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

แม้ว่าท้องผูกจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากปล่อยให้กลายเป็นปัญหาท้องผูกเรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น แผลในลำไส้ใหญ่ หรือริดสีดวงทวารหนัก และบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้


ท้องผูกเรื้อรัง มะเร็ง อาการและสาเหตุ

ท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็งและแห้ง ใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ และหลังจากถ่ายแล้ว ยังรู้สึกไม่สุด สาเหตุของอาการท้องผูก ได้แก่

  1. ความเครียด
  2. การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ
  3. การดื่มน้ำในปริมาณน้อย
  4. ขาดการออกกำลังกาย
  5. เคยชินกับการใช้ยาระบายหรือสวนอุจจาระเองบ่อยๆ
  6. การกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
  7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาลดกรด และยาลดความดัน
  8. โรคบางโรคที่ส่งผลต่อการขับถ่าย เช่น เบาหวาน พาร์กินสัน และเส้นเลือดในสมองตีบ

ท้องผูกแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์

สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำหรือถ่ายอุจจาระยาก หากพบว่าลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป ควรรีบพบแพทย์ทันที โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. หากอุจจาระมีเลือดปน หรือถ่ายเป็นเลือด สีหรือขนาดของอุจจาระเปลี่ยนไป หรือมีเลือดออกทางทวารหนักขณะขับถ่าย
  2. มีความต้องการถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นจากปกติ
  3. คลำพบก้อนในช่องท้อง
  4. รู้สึกปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
  5. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  6. มีภาวะซีด อ่อนเพลีย
  7. ปวดท้องอย่างรุนแรงแต่ไม่ถ่ายอุจจาระ หรือไม่ผายลม

อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่

 



อาหารที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูก

  1. ข้าวกล้องและธัญพืช อุดมด้วยใยอาหาร ช่วยบำรุงร่างกายและแก้ปัญหาการขับถ่าย
  2. ผลไม้ที่ไม่หวานจัด โดยเฉพาะมะละกอสุก นอกจากจะมีกากใยและน้ำ ยังอุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร
  3. ผักใบเขียว เช่น กุยช่าย ผักโขม ที่มีกากใยสูง ช่วยย่อยอาหารและบำรุงร่างกาย

การปรับอาหารและเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายให้เหมาะสม อาจช่วยแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจนำไปสู่มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามคำแนะนำของแพทย์ อายุที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ 50 ปี หรือหากมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมีอาหารเข้าข่ายเสี่ยงตามบทความข้างบน ก็สามารถเข้ารับการตรวจก่อนอายุ 50 ปีได้ โดยวิธีการตรวจคัดกรองที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบันคือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่