5 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

พ่อแม่ต้องระวัง 5 โรคยอดฮิตที่ลูกเสี่ยงติดได้ในช่วงหน้าร้อน

ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กๆ สำหรับเด็กๆ อาจเป้นช่วงเวลาสุดสนุกที่จะได้ออกไปเล่น หรือทำกิจกรรมมากมายแต่ช่วงหน้าร้อนอย่างนี้มีโรคที่อันตรายมากๆ สำหรับเด็กๆ ทำให้พ่อแม่ต้องค่อยใส่ใจและระวังอยู่หลายโรค



1. โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)

การที่อุณหภูมิรอบๆ ตัวสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย บางครั้งอาจสูงจนถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรกได้นั่นเอง โดยอาการของโรคนี้นี้จะมีชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ และชักหรือหมดสติได้ หากเกิดขึ้นแล้วพ่อแม่ควรรีบพาเด็กเข้าในร่ม ที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไป ให้เด็กนอนหงายและเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเร็วขึ้น

ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายลมได้ดี ดื่มน้ำบ่อยๆ และพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก


2. โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นอีกหนึ่งโรคที่ระบาดในช่วงหน้าร้อนนี้ เนื่องจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลให้สัตว์มีความดุร้ายมากขึ้น โดยเกิดจากไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (rabies virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของสมองในมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่น

ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะไม่แสดงอาการจนกระทั่ง 3-8 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ อาการเริ่มแรกคือ มีไข้ ปวดศีรษะ คันบริเวณที่ถูกกัด สับสน พฤติกรรมผิดปกติ ไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติ กลืนลำบาก โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตรายมากๆ เพราะผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 2-10 วันถ้าไม่ได้รับการรักษา


3. โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ตลอดปีและพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่หากพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุ มักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่นๆ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได

อาการเริ่มจากรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัวปวดเมื่อยตามตัวมาก และปวดเบ้าตา มีอาการไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ไอมีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก ถ้าหากเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้

เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม สัมผัสน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงอยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ดังนั้นทั้งเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบตลอดจนผู้สูงอายุ ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกันโรค



4. โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้อาหารเสียได้ง่ายรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้ง่ายปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน ถ้าอาการรุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้ ซึ่งหากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียควรต้องกินยาฆ่าเชื้อ จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

การดูแลดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียนและปวดท้อง แต่ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ถ้าหากใน 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

การป้องกันดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เครื่องดื่มสะอาด รวมทั้งควรดูแลสุขอนามัยอื่นๆ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และดูแลของใช้ของเด็กๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ


5. โรคไข้เลือดออก

สังเกตอาการลูกน้อยหาก มีอาการไข้สูงลอยอย่างต่อเนื่อง 39-41 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2-7 วัน, หน้าแดง ปวดศีรษะ  ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ  ปวดกระบอกตา, เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา, มีเลือดออก เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน  และในรายที่อาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

โรคไข้เลือดออกมีวัคซีนป้องกันซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสเป็น และลดความรุนแรงของโรคหากเป็นได้โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทยอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  1. ชนิดที่ 1 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengvaxia) ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6-45 ปี สามารถฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (เดือน 0, 6 และ 12) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65% ลดความรุนแรงของอาการเลือดออกได้ 93% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยประมาณ
  2. ชนิดที่ 2 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Qdenga) ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ใช้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน กล่าวคือ ทุกคนสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเลือดใดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (เดือน 0 และ 3) มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4%