Painless labor คืออะไร ต่างจากคลอดธรรมชาติแบบปกติยังไง


การเจ็บครรภ์คลอด


การเจ็บครรภ์คลอด นับว่าเป็นความเจ็บปวดที่มากที่สุดในชีวิตหนึ่งของคนเป็นแม่ โดย 2  ใน 3 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะเจ็บปวดจนไม่สามารถทนทานได้ถ้าไม่ได้รับยาระงับความปวด ปัจจุบันวิธีช่วยระงับความปวดมีหลายวิธี เช่น การให้ยาระงับปวดฉีดเข้ากล้ามหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำในเวลาที่เหมาะสม ที่ไม่ส่งให้กดการหายใจของทารกตอนแรกคลอดแต่อย่างไรก็ตามวิธีการใส่สายเพื่อฉีดยาชาเข้าที่ช่องชั้นนอกของไขสันหลังเป็นวิธีที่ช่วยระงับปวดที่ได้รับการยอมรับ และถือเป็นมาตรฐาน และระงับปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ


1. วิธีแบบไม่ใช้ยา  เช่น การให้กำลังใจ ฝึกหายใจ การฝังเข็ม การใช้กระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นต้น วิธีนี้ลดปวดลงได้บ้าง แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนขึ้นกับคนไข้ในแต่ล่ะคน

2. แบบใช้ยา  ปัจจุบันนิยมทำในทุกรพ.เป็นการฉีดยาแก้ปวดทางสายน้ำเกลือ ยาที่มักนิยมใช้ เช่น Morphine, Pethidine วิธีนี้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ (แต่ก็ยังรู้สึกปวดอยู่ ไม่ได้หายปวด) ข้อดีคือ ยาออกฤทธิ์เร็ว แก้ปวดได้ ข้อเสีย มีคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึมได้ และห้ามให้ใช้หากคิดว่าเด็กจะคลอดภายใน 2-4ชม. เพราะตัวยาสามารถผ่านรกไปสู่ลูกด้ ทำให้เด็กมีโอกาสง่วงซึม กดการหายใจหลังคลอดได้ เพราะฉะนั้น โดยปกติหากคุณแม่เจ็บครรภ์คลอด หมอจะสามารถให้ยาแก้ปวดได้ แต่ไม่เกิน 2-7ชม. ก่อนที่เด็กคลอด เพื่อลดความเสี่ยงของยาที่มีต่อเด็ก

3. ใช้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะบริเวณ Epidural block หรือที่เรียกกันว่า Painless labor ซึ่งเป็นวิธีการที่วิสัญญีแพทย์นำมาใช้เพื่อระงับปวด และสามารถใช้ต่อเนื่องไปจนถึงการผ่าตัดคลอดในกรณีที่คลอดไม่ได้ทางช่องคลอด


Painless Labor ทำได้เมื่อไหร่?

จะเริ่มทำเมื่อมีการเจ็บครรภ์จริง และปากมดลูกเปิด 3-5 ซม.ขึ้นไป


ขั้นตอนการทำ Painless Labor

 

1. เริ่มจากการเปิดเส้นให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ ตรวจวัดความดันและชีพจรเบื้องต้น

2. แพทย์จะจัดท่าให้ผู้คลอด นอน ตะแคง งอเข่าสองข้างขึ้นชิดหน้าอกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถคลำช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นช่องที่ใส่สายไว้ที่ช่องชั้นนอกของไขสันหลัง

 

3. จากนั้นเมื่อทดสอบว่าสายที่เข้าไปนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงจัดให้ผู้คลอดนอนหงาย และทำการเติมยาชาเข้าไปเป็นระยะ ๆ เพื่อทดสอบระดับของการระงับปวดให้ได้ระดับ ที่ระงับปวดได้ถึงระดับสะดือ

4. หลังจากนั้นจะใส่ยาชาเฉพาะที่เข้าในช่องนี้ ประมาณ10-20น. ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเหน็บชา บริเวณท้องและต้นขา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความรู้สึกเจ็บปวดในตอนแรก ความเจ็บปวด จะทุเลาลงจนบางคนจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย อาจเพียงรู้สึกเหมือนท้องแข็ง เวลามดลูกบีบตัวแต่จะไม่เจ็บปวด ตลอดการทำจะมีการวัดความดันเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะความดันต่ำ ซึ่งจะต้องรีบให้การแก้ไขทันที  ต่อมาคุณแม่อาจจะปวดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงที่เด็ก เอาหัวลงกดช่องเชิงกราน (ตรงนี้แสดงว่าเด็กใกล้คลอดมากๆ) วิสัญญีแพทย์จะประเมินอีกครั้งเพื่อปรับยาหากคุณแม่ปวดมากจนทำให้รบกวนการเบ่ง


โดยยาชาจะอยู่แค่เฉพาะที่ไม่เข้ากระแสเลือด และไม่เข้ารกไปสู่เด็ก เพราะฉะนั้นจึงปลอดภัยกับเด็ก และเมื่อคุณแม่ไม่ปวด จะลดภาวะตึงเครียดต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งคุณแม่และเด็กและยังทำให้คุณแม่ร่วมมือกับหมอในการเบ่งคลอดด้วย นอกจากนี้ยาชาก็ไม่มีผลต่อการบีบตัวของมดลูกเช่นกัน มดลูกจะยังคงบีบตัวได้แรงตามปกติ เพียงแต่เราจะไม่รู้สึกปวดมากเท่านั้น ส่วนความแข็งแรงของลูกที่คลอด ก็ไม่พบความแตกต่าง


หากใช้วิธีในการคลอดทางช่องคลอดแล้วยังคลอดไม่ได้ และหมอสูตินรีแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรผ่าคลอดก็สามารถให้ยาชาเพื่อผ่าตัดคลอดต่อไปได้ โดยไม่ต้องโดนบล็อคซ้ำอีกรอบ และเมื่อเสร็จสิ้นการคลอดก็จะนำสายให้ยาชาออกจากหลังคุณแม่ หรือในบางครั้งคุณแม่ทำหมันเปียกในวันรุ่งขึ้น  อาจจะคาสายไว้เพื่อให้ยาชาอีกครั้งในการทำหมันเปียก ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว นำสายยาชาออกเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน